อ่านทั้งหมด | 939 |
---|---|
แก้ไขล่าสุด | 2022-03-23 04:33:48 |
วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวไทย และเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทย ที่ไม่ว่าใครที่เข้ามาเยือนที่กรุงเทพฯ ก็จะแวะมายังสถานที่แห่งนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมากี่ครั้งก็ประทับใจ
วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดพระจำพระบรมมหาราชวัง ของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพฯ นั่นเองค่ะ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับพระบรมมหาราชวัง วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ออกไปทางทิศตะวันออก ดังนั้น วัดนี้ไม่มีพระสงฆ์นะคะ ถ้าเทียบลำดับความสำคัญ วัดพระแก้วจะคล้ายกับวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ จ. พระนครศรีอยุธยาค่ะ เป็นวัดประจำวังหลวงเหมือนกัน ภายในพระอุโบสถของวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย
ประวัติของวัดพระแก้ว และพระบรมมหราชวัง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อเสร็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2325 ได้ทรงสถาปนา พระบรมมหาราชวังขึ้น โดยทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา ซึ่งได้จารึกติดอยู่ที่เสาหลักเมือง ว่า “ วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 เวลาย่ำรุ่ง 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ” โดยมีที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระราชวังเดิมของกรุงธนบุรี
พระบรมมหาราชวังนี้มีเนื้อที่ 152 ไร่ 2 งาน รวมความยาว โดยรอบสี่ด้านกำแพง ได้ทั้งหมด 1,910 เมตร ประกอบไปด้วย ป้อมปราการ กับประตูพระราชวังโดยรอบ ภายในของพระบรมมหาราชวัง แบ่งเป็นสี่ส่วน คือ พระราชฐานชั้นนอก พระราชฐานชั้นกลาง พระราชฐานชั้นใน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตำนานแห่ง พระแก้วมรกต
"พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" หรือที่คนไทย รู้จักกันดีในนาม "พระแก้วมรกต" ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาช้านาน ดังมีใจความ ในเรื่อง "ตำนานพระแก้วมรกต" ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น เนื่องในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พิมพ์ในหนังสือ ตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร ( พ.ศ. 2504 ) กล่าวถึง พระราชพิธีตอนสถาปนาพระนคร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใจความว่า...
"...ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร แลสมโภชพระอาราม กับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเป็นกำหนด จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้ เป็นเครื่องสิริสำหรับพระบารมี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้..."
จากข้อความข้างต้น จึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับพระแก้วมรกต ในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครอง ของสยามประเทศแห่งใหม่ถัดจากจากกรุงธนบุรี
การแต่งกาย ในการเข้ารับชมวัดพระแก้ว
เราควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นการให้เกียรติและเคารพสถานที่ ซึ่งมีข้อห้ามดังนี้ค่ะ
- เสื้อแขนกุด เสื้อเอวลอย เสื้อรัดรูป ห้ามใส่โดยเด็ดขาด แต่ถ้าคุณพลาดใส่มาแล้ว ควรมีเสื้อแขนยาวสวมทับให้มิดชิด หรือตัวเลือกสุดท้าย คือซื้อเสื้อที่วางขายอยู่ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ราคาเริ่มต้น 100 บาท
- กางเกงขาสั้น กางเกงขาสั้นในที่นี้ คือหมายถึงการเกง ที่ไม่คลุมเข่าและรัดรูป และไม่ควรขาด เพราะจะดูไม่สุภาพ โดยบริเวณรอบ ๆ วัดพระแก้ว จะมีกางเกงขายาวลายช้าง หรือลายต่างๆ ราคาตั้งแต่ 100-120 บาท วางขายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ศึกษากฏระเบียบข้อปฏิบัติของสถานที่มาก่อน ในแต่ละวันเราจึงเห็นชาวต่างชาติ ใส่กางเกงขายาวลายช้างอยู่เต็มไปหมด
- กระโปรงสั้น เช่นเดียวกันกับกางเกงขาสั้นค่ะ แต่หากคุณใส่มา ก็จะมีผ้าถุงวางขาย ให้คุณได้เลือกซื้อเช่นกัน
- ชุดไทยเปิดไหล่ ขอแนะนำให้ใส่เป็นชุดไทย แบบสุภาพมิดชิด เช่น ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจิตรลดา เป็นต้นค่ะ
ข้อห้ามต่าง ๆ ในการเข้ารับชมวัดพระแก้ว
- ห้ามเข้าในเขตพื้นที่ ที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยจะมีป้ายเตือนอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุม ห้ามนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบิน เหนือบริเวณพระบรมมหาราชวัง
- ห้ามถ่ายภาพ ในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาต
- ห้ามถ่ายภาพทหารมหาดเล็ก ราชวัลลภฯ ระหว่างที่มีการเดินแถว
- ห้ามทิ้งขยะลงพื้น จะมีถังขยะให้บริการตามจุดต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง
จากที่ได้พาทุกท่าน มารู้จักกับวัดพระแก้วนั้น ก็ทำให้เข้าใจถึงกฎระเบียบในการเข้ารับชมแล้วใช่ไหมคะ นอกจากนี้ ยังสามารถพาเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติ เข้ามารับชมความงาม และงานสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ของกรุงเทพฯ กันได้เลยค่ะ นอกจากนี้ หากยังไม่จุใจ บริเวณใกล้ ๆ กัน ก็ยังมีวัดโพธิ์ หรือวัดแจ้ง, วัดอรุณราชวราวราม และวัดระฆัง ให้ได้เข้าไปไหว้พระ ขอพร กันอีกด้วยนะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
MEETING POINT หม่าล่าสไตล์ใหม่ ตลาดเตาปูน
MEETING POINT แกรนด์แคนยอนราชบุรี